วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การศึกษารายกรณี

เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการศึกษารายกรณี

ความหมายของการศึกษารายกรณี
การศึกษารายกรณี หมายถึง การศึกษารายละเอียด เกี่ยวกับบุคคลอย่างลึกซึ้ง และวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมเช่นนั้น หรือมีพฤติกรรมแปลกไปว่ามีสาเหตุมาจากอะไร รวมทั้งแปลความหมายของพฤติกรรมนั้นๆ ว่ามีความสัมพันธ์กับปัญหา และผลสำฤทธิ์ทางการเรียนของบุคคลนั้นอย่างไร พนม ลิ้มอารีย์ (2538 : 8) สำหรับ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2527 :3) ที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาบุคคลเป็นรายกรณีคือ การศึกษารายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญของหน่วยหนึ่งในสังคม เช่น บุคคล กลุ่ม ชุมชน สถาบัน ฯลฯ โดยเฉพาะในปัจจุบันมักเน้นการศึกษารายละเอียดของแต่ละบุคคล การศึกษารายละเอียดนี้ จะต้องศึกษาต่อเนื่องกันไปในระยะเวลาหนึ่งแล้วนำรายละเอียดที่ได้มาวิเคราะห์ ตีความ เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา หรือไม่เป็นปัญหาก็ได้ ได้แก่ การพัฒนาด้านต่างๆ ความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายๆ ด้าน ถ้าในรายที่เป็นปัญหาจะได้ใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน ส่งเสริม หรือนำไปเป็นแบบฉบับแก่บุคคลอื่นต่อไปในปัจจุบัน และอนาคต
นันทิกา แย้มสรวล (2529:7) ได้สรุปความคิดรวบยอดของการศึกษารายกรณีว่าเป็นวิธีการศึกษาบุคคลอย่างละเอียดทุกด้านต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เป็นการรวบรวมข้อมูลทุกด้านของบุคคลมาจัดไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวินิจฉัยปัญหา เพื่อช่วยให้มองเห็นบุคลิกภาพรวมของบุคคล จนสามารถเข้าใจถึงธรรมชาติของบุคคล และสาเหตุของปัญหาอย่างชัดเจน แล้วนำข้อมูลมาพิจารณาวางแผนให้การช่วยเหลือแนะแนวให้บุคคลพยายามแก้ไข และพัฒนาชีวิตของตนให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พรหมธิดา แสนคำเครือ (2528:70) กล่าวว่า การศึกษาเป็นรายกรณีเป็นกระบวนการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลเป็นรายกรณีต่อเนื่องไประยะหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะหาทางช่วยให้บุคคลปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นทุกด้าน เช่น อารมณ์ สังคม เจตคติ ความสนใจ และการเรียน เป็นต้น
ทศวร มณีศรีขำ (2539:170) ได้กล่าวว่า การศึกษารายกรณี เป็นวิธีการศึกษาบุคคลอย่างกว้างขวาง และอย่างละเอียด ทั้งภูมิหลัง และชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้ผู้ศึกษารู้จัก และเข้าใจบุคคลนั้นอย่างแท้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยเหลือบุคคลนั้น และช่วยให้เขาตระหนักรู้ รวมทั้งสามารถปรับตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขของตน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากแนวความคิดข้างต้นสรุปได้ว่า การศึกษารายกรณี หมายถึง การศึกษารายละเอียดต่างๆ ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง แล้วนำรายละเอียดที่ศึกษามาวิเคราะห์ ตีความ เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา และสาเหตุของนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรมหนีเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือ ป้องกัน และส่งเสริมให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
กระบวนการในการศึกษารายกรณี
การศึกษารายกรณีเป็นวิธีการศึกษาบุคคลอย่างละเอียดทุกด้านอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยการใช้เทคนิคการแนะแนวหลายๆ อย่าง ในการรวบรวมข้อมูลทุกด้านของบุคคลโดยมีขั้นตอนในการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพื่อพยายามทำให้เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ควรแก่การเชื่อถือได้
กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2527:22-23) กล่าวว่า “ กระบวนการในการศึกษาบุคคลเป็นรายกรณีไม่มีกฎตายตัวแน่นอนลงไป” แต่จากความรู้ และประสบการณ์จริงที่เคยได้ฝึกทำการศึกษาบุคคลเป็นรายกรณีจึงแบ่งกระบวนการในการศึกษาบุคคลเป็นรายกรณีออกเป็น 7 ขั้นตอนคือ
1. การกำหนดปัญหา และการตั้งสมมุติฐาน
2. การรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล
3. การวินิจฉัย
4. การช่วยเหลือ การป้องกัน และการส่งเสริม
5. การทำนายผล
6. การติดตามผล
7. การสรุปผล และข้อเสนอแนะ
กระบวนการศึกษารายกรณีทั้ง 7 ขั้นตอน รายละเอียดดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 การกำหนดปัญหา และการตั้งสมมุติฐาน
การกำหนดปัญหา หมายถึง การที่ผู้ศึกษารายกรณีตั้งจุดมุ่งหมายหรือกำหนดว่าจะศึกษาสิ่งใดในบุคคลหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นปัญหาหรือไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นความสนใจ ความสามารถพิเศษ หรืออื่นๆ (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์.2527:23)
ในการตั้งสมมุติฐานนั้น ควรตั้งไว้หลายๆ สมมุติฐาน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่พบว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นอกจากนั้นการที่คนเราแสดงพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งออกมานั้น อาจไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว และในทำนองเดียวกัน พฤติกรรมที่แตกต่างกันก็อาจเกิดจากสาเหตุเดียวกันก็ได้ ฉะนั้นจึงควรตั้งสมมุติฐานไว้หลายๆ สมมุติฐาน
ขั้นที่ 2 การรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล
การรวบรวมข้อมูลคือ การหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงหลังจากที่มีการกำหนดปัญหา และตั้งสมมุติฐานแล้ว โดยใช้เครื่องมือการแนะแนวเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เราศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ ระเบียนสะสม การทดสอบ เป็นต้น
การวิเคราะห์ข้อมูลคือ การตีความหรือแปลความหมายข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลในแต่ละวิธีหรือเทคนิค เพื่ออธิบายเหตุผล และผลของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลนี้อาจจะทำโดยวิธีประชุมปรึกษา ด้วยการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เราศึกษา ร่วมกันพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงที่ได้จากการรวบรวมข้อมูล

การรวบรวมข้อมูลที่ดีนั้น ควรจะต้องใช้หลายๆ ด้าน หลายเทคนิค และแต่ละเทคนิคควรจะใช้หลายๆ ครั้ง เพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมของบุคคลที่ได้รับการศึกษาอย่าละเอียด และตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด เทคนิคต่างๆ ที่นิยมใช้ มี8 เทคนิคดังนี้ (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์.2527:29-30)
1. การสังเกต (Observation)
2. การสัมภาษณ์ (Interview)
3. การเยี่ยมบ้าน (Home – Visit)
4. อัตชีวประวัติ และบันทึกประจำวัน (Autobiography and Diary)
5. สังคมมิติ (Goniometry)
6. แบบสอบถาม (Questionnaire)
7. แบบทดสอบ (Testing)
8. ระเบียนสะสม (Cumulative Record)
เทคนิคต่างๆ ทั้ง 8 เทคนิคดังกล่าว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การสังเกต (Observation)
การสังเกตเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกสังเกตในการศึกษารายกรณีที่ใช้มาก บางครั้งอาจใช้ร่วมกับการสัมภาษณ์ วิธีการนี้สามารถปฏิบัติได้ทุกวัน ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตจะช่วยให้ผู้สังเกตสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมในแต่ละสถานการณ์ดีขึ้น
1.1 ความหมายของการสังเกต
การสังเกต หมายถึง การพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลายๆ สิ่ง ของที่บุคคลที่แสดงออกมาในลักษณะที่เป็นจริงตามธรรมชาติ โดยที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้สังเกต ทำการดูหรือสังเกต อีกบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ถูกสังเกต ในการสังเกตอวัยวะระบบสัมผัสที่สำคัญคือ ตา และหู
1.2 จุดมุ่งหมายของการสังเกต
กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2527:32) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการสังเกตที่ใช้ในการแนะแนว ดังต่อไปนี้
1. เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงด้วยตนเอง
2. เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้ถูกสังเกต
3. เพื่อค้นหาสาเหตุบางประการของปัญหา
4. เพื่อทำให้ผู้สังเกตเป็นผู้มีความคิดรอบคอบ และไวต่อการมีปฏิกิริยาโต้ตอบจากสิ่งแวดล้อม จนเป็นผู้ที่ปรับตัวได้ดี และรวดเร็วในแต่ละสถานการณ์




1.3 ชนิดของการสังเกต
การแบ่งชนิดของการสังเกต อาศัยเกณฑ์ต่างๆ 4 เกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1. ใช้วิธีการในการสังเกตเป็นเกณฑ์ แบ่งการสังเกตเป็น2 ชนิด ดังต่อไปนี้
1.1 การสังเกตทางตรง (Direct Observation) เป็นวิธีการที่ผู้สังเกตไปสังเกตด้วยตนเอง
1.2 การสังเกตทางอ้อม (Indirect Observation) เป็นวิธีการที่ผู้สังเกตให้บุคคลอื่นไปสังเกตพฤติกรรมผู้ถูกสังเกต ผู้สังเกตจะทราบพฤติกรรมของผู้ถูกสังเกตได้จากคำบอกเล่าของบุคคลที่ไปสังเกตแทน
2. ใช้ผู้สังเกตเป็นเกณฑ์ แบ่งการสังเกตออกเป็น 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
2.1 การสังเกตโดยการเข้าร่วม (Participant Observation) เป็นวิธีการที่ผู้สังเกตจะต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มในสถานการณ์นั้น ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม
2.2 การสังเกตโดยการไม่เข้าร่วม (Non - Participant Observation) เป็นวิธีการที่ผู้สังเกตได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น แต่อยู่ภายนอกเพื่อคอยสังเกตอย่างเดียวไม่มีบทบาทในกลุ่มนั้น
3. ใช้ผู้ถูกสังเกตเป็นเกณฑ์ แบ่งการสังเกตออกเป็น 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
3.1 การสังเกตเป็นแบบพิธีการ (Formal Observation) เป็นวิธีการสังเกตที่ผู้ถูกสังเกตรู้ตัวว่าถูกสังเกต เนื่องจากมีการนัดหมายกันล่วงหน้าก่อนการสังเกต
3.2 การสังเกตแบบไม่พิธีการ (Informal Observation) เป็นวิธีการสังเกตที่ผู้ถูกสังเกตไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต เนื่องจากไม่มีการนัดหมายกันล่วงหน้าก่อนการสังเกต
4. ใช้ลักษณะการบันทึกการสังเกตเป็นเกณฑ์ แบ่งการสังเกตออกเป็น 2 ชนิดคือ
4.1 การสังเกตในระดับที่เห็นโดยตรง (Manifest Level Observation) เป็นวิธีการสังเกตเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แล้วบันทึกเหตุการณ์ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น มีเข้าประชุม 10 คน มีคนคัดค้าน 7 คน เห็นด้วย 3 คน เป็นต้น
4.2 การสังเกตในระดับที่เป็นพฤติกรรมแฝง (Latent Level Observation) เป็นวิธีการสังเกตที่ผู้สังเกตต้องลงความเห็น หรือตีความจากสิ่งที่สังเกตเห็นออกมาด้วย เช่น บรรยากาศในที่ประชุม เป็นต้น
1.4 การบันทึกการสังเกต (Observational Record)
การบันทึกการสังเกตเป็นการกระทำเมื่อมีการสังเกตแล้ว โดยใช้หลักการบันทึกดังนี้
1. บันทึกพฤติกรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนโดยเรียงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลัง
2. ใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ และสื่อความหมาย เพื่อผู้อื่นจะได้อ่านเข้าใจง่าย และเข้าใจตรงกับผู้บันทึก
3. ควรบันทึกพฤติกรรมของผู้ถูกสังเกต แยกไปจากการแสดงความคิดเห็นของผู้สังเกต และบันทึกพฤติกรรมของผู้ถูกสังเกตในแต่ละครั้ง ไม่ควรใช้วิธีการสรุปรวมพฤติกรรมที่ได้จากการสังเกตหลายๆ ครั้งเข้าด้วยกัน

4. ควรบันทึกทันทีหลังการสังเกตเสร็จสิ้นลง หรืออาจบันทึกในขณะสังเกต หากมีการสังเกตในระยะเวลานาน และมีผู้สังเกตหลายคน โดยการแบ่งเวลาในการสังเกต และบันทึก
1.5 วิธีการบันทึกการสังเกต
การบันทึกการสังเกต โดยทั่วไปมี 2 วิธีดังนี้
1. การบันทึกแบบอัตนัย (Subject Record) เป็นวิธีการบันทึกที่ใส่ความคิดเห็นของผู้สังเกตไปพร้อมกับพฤติกรรมที่สังเกตได้ วิธีการบันทึกแบบนี้นิยมกันมาก คือการบันทึกพฤติกรรมแบบพรรณนา (Descriptive Record) ซึ่งสามารถทำได้ง่ายโดยการเขียนเป็นความเรียงไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีผู้สังเกต ข้อมูลที่บันทึกอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ได้
2. การบันทึกแบบปรนัย (Object Record) เป็นการบันทึกเฉพาะพฤติกรรมที่เกิดขึ้น และแยกความคิดเห็นของผู้สังเกตออกต่างหาก
ึ่งที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกสังเกตในการศึกษารายกรณีที่ใช้มาก บางครั้งอาจใช้ร่วมกับการสัมภาษณ์พิจารณาศึกษ
2. การสัมภาษณ์ (Interview)
การสัมภาษณ์เป็นการสนทนาหรือพูดคุยกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป อย่างมีจุดมุ่งหมาย (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2527 : 93) รายละเอียดในการสนทนามักจะเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งควรต้องเก็บไว้เป็นความลับ ดังนั้นการสนทนากันนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยทักษะและสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นอย่างมาก (อารีย์ ตัณฑ์เจริญรัตน์. 2526 : 96)
2.1 ความหมายของการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ หมายถึง การสนทนาหรือการพูดคุยกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีจุดประสงค์ในการสนทนา ซึ่งอาศัยสัมพันธภาพและมนุษยสัมพันธ์เป็นกุญแจสำคัญของ
วิธีการสัมภาษณ์
2.2 ชนิดของการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ที่นิยมใช้ในวงการแนะแนวและจิตวิทยา มี 2 ชนิด (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2527 : 94 - 96) ดังนี้
1. การสัมภาษณ์เพื่อการค้นคว้าหรือทราบข้อเท็จจริง (Fact Finding Interview) เป็น
การสัมภาษณ์ที่ผู้สัมภาษณ์สนทนาหรือซักถามข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับผู้ถูกสัมภาษณ์ในด้านความคิดเห็น ความรู้สึก ความสนใจ เจตคติ และค่านิยมของผู้ถูกสัมภาษณ์เกี่ยวกับตนเอง และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเป็นการหาข้อเท็จจริง หรือข้อมูลเพิ่มเติมจากที่มีอยู่รวมทั้งยังเป็นการตรวจสอบว่าข้อมูลที่มีอยู่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่
2. การสัมภาษณ์เพื่อให้คำปรึกษา (Counseling Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ผู้รับ
สัมภาษณ์สนทนาซักถามผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจและมองเห็นสภาพปัญหาของตนเองได้ชัดเจนขึ้น จนสามารถพิจารณาแก้ไขหรือตัดสินปัญหาของเขาได้หลังจากการให้สัมภาษณ์ นอกจากนั้นการสัมภาษณ์ชนิดนี้จะช่วยสร้างความคุ้นเคยระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย
2.3 กระบวนการสัมภาษณ์
1. ก่อนการสัมภาษณ์
2. ขณะสัมภาษณ์
3. การยุติการสัมภาษณ์
1. ก่อนการสัมภาษณ์
กระบวนการขั้นนี้ มีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้
1.1 การเตรียมบุคคล เป็นการเตรียมทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ในเรื่องของความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย คือมีการกำหนด วันเวลา และสถานที่ในการสัมภาษณ์บอกจุดมุ่งหมายให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ทราบ
1.2 การเตรียมจุดมุ่งหมายและหัวข้อในการสัมภาษณ์ อาจมีการบันทึกหัวข้อก่อนสัมภาษณ์ และมีการจดบันทึกในขณะสัมภาษณ์ด้วยแต่ถ้าหากเป็นการสัมภาษณ์ในลักษณะไม่บอกจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ก็ไม่ควรบันทึกหัวข้อที่จะสัมภาษณ์
1.3 การเตรียมสถานที่ ซึ่งจะต้องมีลักษณะสะดวกสบาย ควรเป็นที่มิดชิด หรือมีความเป็นส่วนตัว ปราศจากสิ่งรบกวน เพื่อผลของการสัมภาษณ์
1.4 การเตรียมวัน เวลา ในการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มักจะให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นผู้เลือก วัน เวลา ที่เขาสะดวก พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงมากขึ้น
2. ขณะสัมภาษณ์
ในขณะสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยเทคนิคทั่วไป และเทคนิคเฉพาะ (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2527 : 99- 108) กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ชนิดใดจะต้องใช้เทคนิคทั่วไป 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1. การสังเกต (Observation) โดยใช้อวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5
2. การฟัง (Listening) เป็นเทคนิควิธีที่ดีที่สุดในการแนะแนวและให้คำปรึกษา
3. การใช้คำถาม (Question) ผู้สัมภาษณ์อาจจะต้องถามผู้ถกสัมภาษณ์ในสิ่งที่ยังไม่กระจ่าง โดยการใช้คำถามที่มีลักษณะเป็นมิตร ผู้ถูกสัมภาษณ์ฟังแล้วเข้าใจว่าผู้สัมภาษณ์มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลืออย่างแท้จริง
4. การพูด (Talking) การพูดที่ดีนั้นจะต้องแสดงการยอมรับเจตคติและความรู้สึกของผู้ถูกสัมภาษณ์ ใช้ภาษาและถ้อยคำที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามพูดเพื่อควบคุมให้การสัมภาษณ์เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ดังนี้
1. การสร้างสายสัมพันธ์ (Rapport)
2. การแสดงความเห็นใจ (Sympathy)
3. การแสดงอารมณ์ร่วม (Empathy)
4. การทำให้เกิดความมั่นใจ (Assurance)
5. การแสดงความเห็นด้วย (Approval)
6. การทำให้เกิดความกระจ่าง (Clarification)
7. การสะท้อนความรู้สึก (Reflection of Feeling)
8. การใช้ความเงียบ (Using Silence)
9. การสร้างอารมณ์ขัน (Sense of Humor)
3. การยุติการสัมภาษณ์
การยุติการสัมภาษณ์ เป็นสิ่งสำคัญจึงต้องพยายามให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดเพื่อที่จะเป็นผลดีต่อการสัมภาษณ์ครั้งต่อๆไป จึงควรปฏิบัติดังนี้
1. ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่เขาพูดไปนั้นจะเป็นความลับและเป็นผลดีแก่เขา
2. ผู้สัมภาษณ์อาจตั้งคำถามให้ผู้สัมภาษณ์นำไปคิดก่อนยุติการสัมภาษณ์ เพื่อจะได้เรื่องราวต่อเนื่องในการสัมภาษณ์ครั้งต่อไป

3. ผู้สัมภาษณ์ให้ผู้สรุปสิ่งที่เขาคิดรู้สึกในขณะสัมภาษณ์ เพื่อจะช่วยให้เขาเข้าใจสภาพปัญหายิ่งขึ้น และอาจจะต้องมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขในบางตอนโดยผู้สัมภาษณ์
4. ผู้สัมภาษณ์จะต้องใช้คำพูดและท่าทีที่นุ่มนวล มีความจริงใจต่อผู้ถกสัมภาษณ์ แสดงให้เห็นว่าต้องการสัมภาษณ์ในคราวต่อไปอีก
5. มีการนัดวันเวลา สถานที่ ในการสัมภาษณ์ครั้งต่อไปเมื่อยุติการสัมภาษณ์แล้ว ผู้สัมภาษณ์จะต้องรีบบันทึกผลการสัมภาษณ์ลงในแบบฟอร์มบันทึกการสัมภาษณ์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันข้อมูลผิกพลาด
จากแนวคิดข้างต้นสรุปได้ว่า การสัมภาษณ์เป็นการสนทนาหรือพูดคุยกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งจะต้องสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ถูกสัมภาษณ์และผู้สัมภาษณ์ให้เกิดความคุ้นเคยและไว้วางใจซึ่งกันและกัน

3. การเยี่ยมบ้าน (Home Visit)
การเยี่ยมบ้านเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และร่วมมือกับบิดามารดาหรือผู้ปกครองในการช่วยเหลือผู้รับการศึกษา ข้อมูลที่ควรจะได้จากการไปเยี่ยมบ้าน เช่น สภาพทั่วไปของบ้าน สภาพแวดล้อมของบ้าน ลักษณะท่าทีของผู้ปกครอง ลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวโดยทั่วไปผู้ไปเยี่ยมบ้านคือ ครูแนะแนวหรือครูประจำชั้นซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษา ส่วนในสถาบันการแพทย์ผู้มีหน้าที่เยี่ยมบ้านคือ นักสังคมสงเคราะห์
3.1 วัตถุประสงค์ของการเยี่ยมบ้าน
การเยี่ยมบ้านมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทางบ้าน
2. เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสถาบันกับบ้าน
3. เพื่อหาข้อมูลบางประการที่ไม่สามารถได้มาด้วยวิธีการอื่นๆ
3.2 ข้อปฏิบัติในการเยี่ยมบ้าน
การเยี่ยมบ้านมีขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้ (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2527 :122 -124)
1. ขั้นเตรียมก่อนการเยี่ยมบ้าน
1.1 กำหนดจุดมุ่งหมายในการเยี่ยมบ้าน
1.2 นัดหมายวัน เวลา ที่จะไปเยี่ยมบ้านกับผู้ปกครอง
2. ขณะเยี่ยมบ้าน
2.1 แสดงสัมมาคารวะต่อเจ้าของบ้าน และแสดงความเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
2.2 ใช้ความสังเกตและจดจำสิ่งที่ได้พบเห็น
2.3 ระยะแรกของการสนทนาควรหาทางสนับสนุนให้ผู้รับการศึกษาร่วมสนทนาด้วย เพื่อสังเกตสัมพันธภาพระหว่างผู้รับการศึกษากับผู้ปกครอง

2.4 พยายามกระตุ้นให้ผู้ปกครองแสดงทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะผู้รับการศึกษาและสถาบันให้มากที่สุด
2.5 กล่าวถึงผู้รับการศึกษาในด้านดีที่เป็นจริง
2.6 ไม่ควรทำตัวเป็นพิธีรีตอง
2.7 ใช้เวลาในการเยี่ยมบ้านประมาณ 30 – 60 นาที หรือสังเกตจากกริยาอาการของเจ้าของบ้านที่แสดงว่าอึดอัดหรือมีธุรกิจที่ต้องทำ
3. หลังการเยี่ยมบ้าน ควรมีการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ ทันทีเมื่อกลับจากเยี่ยมบ้านโดยใช้แบบฟอร์มในการบันทึกการเยี่ยมบ้าน

4. อัตชีวประวัติและบันทึกประจำวัน (Autobiography and Diary)
อัตชีวประวัติ หมายถึง การที่บุคคลได้เขียนบรรยายประวัติความเป็นมาของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนความคาดหวังในอนาคต (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2527 : 138) นอกจากนี้
พนม ลิ้มอารีย์ (2528 : 111) ยังกล่าวถึง อัตชีวประวัติเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการเก็บข้อมูลรายบุคคล วิธีการจัดทำคือการทำให้บุคคลเขียนประวัติความเป็นมา และเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ซึ่ง
สุภาพรรณ โคตรจรัส (2528 : 128) ยังได้กล่าวว่าอัตชีวประวัติเป็นเทคนิคการรวบรวมข้อมูลโดยให้บุคคลเขียนเรื่องราวประวัติตนเอง นอกจากจะให้ภาพประสบการณ์ในชีวิตของบุคคล ยังทราบถึงทัศนคติ และความรู้สึกของบุคคลต่อประสบการณ์นั้น
จากข้อความดังกล่าวข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า อัตชีวประวัติเป็นเสมือนเครื่องมือชนิดหนึ่งที่เปิด
โอกาสให้ผู้เขียนได้บรรยายเรื่องราวของเขาอย่างเสรี ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงความหวังในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงลักษณะของบุคคลนั้นได้

4.1 วัตถุประสงค์ในการเขียนอัตชีวประวัติ
การเขียนอัตชีวประวัติ มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อให้บุคคลได้ระบายความรู้สึกที่มีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม
2. เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจบุคคลที่เขียนอัตชีวประวัติได้ดีขึ้น
3. เพื่อทราบข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลโดยวิธีอื่นๆ
4.2 รูปแบบของอัตชีวประวัติ
1. แบบไม่กำหนดโครงสร้างหรือหัวข้อ
การเขียนแบบนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เขียนบรรยายเรื่องราวของเขาเอง เป็นความเรียง
อิสระ การเขียนแบบนี้จะให้ประโยชน์และคุณค่ามากในการให้คำปรึกษาแต่ยากต่อการตีความหมายเพราะไม่ได้เขียนตามรูปแบบใดๆ
2. แบบกำหนดโครงสร้างหรือหัวข้อ
การเขียนแบบนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ว่าต้องการทราบเกี่ยวกับเรื่องใด
บันทึกประจำวัน (Diary Record)
การเขียนบันทึกประจำวันหรืออนุทินส่วนตัว เป็นส่วนหนึ่งของอัตชีวประวัติโดยการเขียนถึงประสบการณ์ในด้านกิจกรรมและความรู้สึกในแต่ละวันซึ่งเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน การวิเคราะห์ก็คือการสรุปเรื่องราวที่เขียนเล่ามาในแต่ละวันนั่นเอง โดยก่อนให้เขียนบันทึกประจำวันผู้ให้เขียนจะต้องเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกันพอสมควรกับผู้เขียน นอกจากนั้นผู้ให้เขียนจะต้องชี้แจงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการให้เขียน และให้เขียนต่อเนื่องกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ในการบันทึกอาจมีแบบฟอร์ม หรือไม่มีก็ได้
แต่ต้องมีหัวข้อดังต่อไปนี้
1. ชื่อ อายุ เพศ ของผู้บันทึก
2. วัน เดือน ปี ที่บันทึก
3. กิจกรรมที่ทำในวันนั้น โดยต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จะทำให้ทราบนิสัยของผู้บันทึกได้

5. สังคมมิติ (Sociometry)
หมายถึง วิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความสัมพันธ์ทางสังคมภายในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยพิจารณาในแง่ของลักษณะของกลุ่มและบทบาทของสมาชิกว่าธรรมชาติที่แท้จริงเป็นอย่างไร โดยความเชื่อพื้นฐานของนักจิตวิทยาที่มีต่อการทำสังคมมิติ ดังนี้
1. มนุษย์ทุกคนย่อมต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
2. การที่มีโอกาสอยู่ในสังคม ได้มีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น จะช่วยพัฒนาการด้านสังคม
ได้เป็นอย่างดี

3. ห้องเรียนเปรียบเสมือนห้องทดลองที่เด็กมีโอกาสจะเรียนรู้มนุษยสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กเป็นอันมาก
5.1 จุดมุ่งหมายของการทำสังคมมิติ
การทำสังคมมิติมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญอยู่ 5 ประการ คือ
1. เพื่อทราบว่านิสิตภายในห้องเดียวกันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร แยกกันเป็นกลุ่มย่อย กี่กลุ่ม
2. เพื่อทราบว่าในกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มมีใครบ้างและลักษณะของกลุ่มเป็นอย่างไร
3. เพื่อทราบว่านิสิตคนใดที่เพื่อนชอบและนิยมยกย่องมากที่สุด เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
4. เพื่อทราบว่านิสิตคนใดไม่เข้าสังคมหรือถูกทอดทิ้ง
5. เพื่อทราบว่านิสิตคนใดที่เพื่อนไม่ชอบ

5.2 หลักการทำสังคมมิติ
การทำสังคมมิติ มีหลักในการทำดังนี้
1. สมาชิกในกลุ่มควรจะรู้จักและคุ้ยเคยกันเป็นอย่างดี
2. ก่อนทำสังคมมิติ ผู้ทำควรมีสัมพันธ์อันดีและคุ้นเคยกับสมาชิกในกลุ่มพอสมควร
3. แจ้งจำนวนและรายชื่อสมาชิกให้ทุกคนในกลุ่มทราบ
4. การทำสังคมมิติแต่ละครั้งควรสมมติสถานการณ์เพียงสถานการณ์เดียว
5. ไม่ควรบอกล่วงหน้าเพราะจะทำให้ข้อมูลไม่เป็นธรรมชาติ
6. การทำสังคมมิติในแต่ละสถานการณ์ควรให้สมาชิกเลือกมากกว่า 1 แต่ไม่ควรเกิน 3 อันดับ เพราะจะยุ่งยากในการเขียนแผนผัง
7. การแปลความหมายของสังคมมิติในแต่ละสถานการณ์แตกต่างกัน
8. ควรใช้วิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น กลวิธีใครเอ่ย ฯลฯ

6. แบบสอบถาม (Questionnaires)
เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อประสงค์ให้ผู้ถูกถามได้ตอบตามลำพัง โดยการกรอกข้อความลงไป อาจเป็นข้อความสั้น ๆ หรือยาวก็ได้ช่วยให้ผู้ถามได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างกว้างขวาง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ เจตคติความรู้สึกและความรู้เห็นของบุคคล รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวส่วนตัว สถานภาพครอบครัว ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความสนใจ การใช้เวลาว่าง สุขภาพ นิสัยในการเรียน การทำงาน ตลอดจนโครงการศึกษาและอาชีพในอนาคตของนิสิต


6.1 ชนิดของแบบสอบถาม
แบบสอบถามหากแบ่งตามเกณฑ์ สามารถแบ่งโดยใช้เกณฑ์ 2 เกณฑ์ ดังนี้
(กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ 2527 : 217-270)
เกณฑ์ที่ 1 ในเกณฑ์ของวัตถุประสงค์ซึ่งใช้มากในการแนะแนว จะแบ่งแบบสอบถามเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. แบบสอบถามแบบการประเมินผล (Evaluation Form)
2. แบบสอบถามแบบปลายปิดหรือมีโครงสร้าง (Closed Form)
3. แบบสอบถามชนิดรูปภาพ (Pictorial Form)
4. แบบสอบถามแบบผสม (Mixed Form)
ซึ่งชนิดของแบบสอบถามที่ผู้วิจัยใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นแบบเกณฑ์ที่ 2 คือ ใช้เกณฑ์ของลักษณะแบบสอบถาม ยกเว้นแบบสอบถามชนิดรูปภาพ
6.2 ประโยชน์ของแบบสอบถาม
แบบสอบถามมีประโยชน์ดังนี้
1. เป็นการรวบรวมข้อมูลพร้อม ๆ กันหลาย ๆ ด้าน ในเวลาเดียวกันซึ่งการเก็บข้อมูลวิธีอื่น อาจจะต้องจำแนกประเภทของข้อมูล แต่ละชนิด และเก็บได้ทีละชนิด
2. ไม่เสียเวลาในการเก็บข้อมูลทีละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ครูแนะแนวมีจำนวนไม่เพียงพอ เพราะสามารถนำแบบสอบถามไปใช้ได้กับจำนวนนักเรียนครั้งละหลาย ๆ คน
3. ช่วยให้ได้ข้อมูลเพิ่มจากการเก็บข้อมูลที่ได้โดยวิธีอื่น ๆ
4. สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปจดบริหารแนะแนว ให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม
5. ทำให้ทราบถึงความรู้สึกนึกคิดที่นักเรียนมีต่อสิ่งต่าง ๆ
6.3 การใช้แบบสอบถาม
เพื่อช่วยให้การใช้แบบสอบถามได้ผลอย่างเต็มที่ครูหรือผู้แนะแนวควรจะปฏิบัติดังนี้
1. จะต้องพยายามกระตุ้นแรงจูงใจ ให้นักเรียนกรอกแบบสอบถามด้วยความจริงใจ ไม่ปกปิด ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแนะแนวอย่างแท้จริง
2. ควรที่จะได้ให้ความมั่นใจกับนักเรียน ว่าข้อเท็จจริงต่าง ๆ จะเก็บรักษาไว้เป็นความลับไม่เปิดเผยให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ทราบ เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากนักเรียนเสียก่อน
3. ควรที่จะได้อธิบายให้นักเรียนได้ทราบถึง วัตถุประสงค์ของการให้นักเรียนกรอกแบบสอบถามตลอดจนวิธีการกรอกแบบละเอียด เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการตอบแบบสอบถามและให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง



7. แบบทดสอบ (Testing)
การใช้แบบสอบถามเป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีระบบ และเป็นวิธีที่ควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุม มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและผลที่ได้จากแบบทดสอบมีความหมายชัดเจน ในการแนะแนวจึงมักจะนำแบบทดสอบมาใช้ในกรณีที่ต้องการจะได้ข้อมูลที่เด่นชัดชี้เฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การใช้แบบทดสอบ เมื่อต้องการจะทราบถึงความถนัด ความสามารถ ความสนใจ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือบุคลิกภาพที่เป็นปัญหาที่เด็กกำลังประสบอยู่ เป็นต้น
7.1 จุดมุ่งหมายของการใช้แบบทดสอบ
จุดมุ่งหมายสำคัญของการนำวิธีการทดสอบมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล มี 5 ประการ ดังนี้
1. เพื่อพยายามรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวนักเรียนซึ่งจะช่วยให้ครูและผู้แนะแนวได้รู้จักและเข้าใจนักเรียนของตนมากขึ้น
2. เพื่อครูและผู้แนะแนวจะได้นำผลจากการทดสอบไปใช้ในการวินิจฉัยนักเรียน
3. เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เกิดความเข้าใจในตนเองได้อย่างถูกต้อง
4. เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองนักเรียน ได้มีความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับขีดความสามารถและความเข้มใจของบุตรหลานของตน
5. เพื่อทางโรงเรียนจะได้นำผลการทดสอบที่ได้มาใช้ในการจำแนกตัวนักเรียนโดยเฉพาะในด้านบริการจัดวางตัวบุคคล
7.2 ข้อควรคำนึงในการใช้แบบทดสอบ
แบบทดสอบจะมีคุณค่าเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้แบบทดสอบ ผู้ใช้ควรมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการต่าง ๆ อย่างดีพอ เพื่อจะได้ผลดีข้อมูลมีประสิทธิภาพจึงมีข้อเสนอแนะในการใช้แบบทดสอบดังนี้
1. ผู้ใช้แบบทดสอบควรจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญในแบบทดสอบนั้น ๆ เคยได้รับการเรียนรู้หรืออบรมมาดีพอ
2. ไม่ควรใช้แบบทดสอบเพื่อเป็นเครื่องยืนยันความสามารถหรือเก่งกล้าอย่างใดอย่างหนึ่งให้ระลึกไว้เสมอว่าต้องการให้ข้อมูลที่ได้แบบทดสอบไปเพื่อช่วยเหลือบุคคล
3. ใช้แบบทดสอบเมื่อมีความจำเป็นเป็นต้นว่าไม่สามารถให้ข้อมูลด้วยวิธีการอื่น
4. ก่อนใช้แบบทดสอบควรแน่ใจเสียก่อนว่า บุคคลที่จะถูกทดสอบนั้นเหมาะกับแบบทดสอบนั้น ๆ
5. ไม่จำเป็นต้องนำผลที่แปลได้จากแบบทดสอบมารายงาน ให้ผู้ถูกทดสอบทราบโดยละเอียด เพราะบางอย่างควรทราบแต่ส่วนรวมเท่านั้น



7.3 ประโยชน์ของการใช้แบบทดสอบ
1. การทดสอบช่วยให้ครูและผู้แนะแนววินิจฉัยนักเรียนได้ถูกต้องแม่นยำ และเป็นที่น่าเชื่อถือได้มากกว่าการไม่ใช้แบบทดสอบเสียอีก
2. การทดสอบที่ดีจะช่วยให้ครูและผู้แนะแนว สามารถจัดกลุ่มนักเรียนหรือจัดวางตัวนักเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
3. ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบมีความหมายชัดเจนกว่าข้อมูลที่ได้จากการใช้เครื่องมือที่ไม่ใช่แบบทดสอบ
4. การเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบทดสอบช่วยให้ครูและผู้แนะแนวได้ข้อมูลในเวลาอันรวดเร็วและสะดวก

8. ระเบียนสะสม (Cumulative Record)
บุหงา วชิรศักดิ์มงคล (2523 : 112) กล่าวว่า ระเบียนสะสม เป็นที่รวบรวมสะสมข้อเท็จจริงของนักเรียนจากที่หลาย ๆ แห่งและเป็นเวลานานเก็บไว้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นภาพพัฒนาการของนักเรียนในด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจน อันจะช่วยให้ครูผู้สอน ผู้แนะแนวผู้ปกครอง ผู้บริหาร ได้เข้าใจและรู้จักนักเรียน และทำให้นักเรียนมีโอกาสได้เข้าใจตนเองได้ดีขึ้นและนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหาร การสอน และการบริการของโรงเรียน ตลอดจนการวางแผนชีวิตด้านต่างๆ ของเด็กเอง
จำเนียร ช่วงโชติ (2527 : 212) ได้ให้ความหมายของระเบียนสะสมไว้ว่า ระเบียนสะสมคือ เอกสารอย่างหนึ่งที่เป็นที่รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และรายละเอียดต่าง ๆ ของนักเรียนแต่ละคนอย่างมีแบบแผน เช่น ประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัว รายงานการเรียน รายงานการทดลอง รายสุขภาพ ความถนัด ความสนใจกิจกรรมพิเศษ โครงการศึกษา และอาชีพในอนาคตบันทึกการสัมภาษณ์ บันทึกการให้คำปรึกษา และรายละเอียดอื่น ๆ ที่ทางโรงเรียนต้องการทราบเกี่ยวกับตัวนักเรียน
วัชรี ทรัพย์มี (2531 : 13) กล่าวว่า ระเบียนสะสมเป็นบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนที่บันทึกสะสมมาตั้งแต่นักเรียนเข้ามาเรียนในโรงเรียน จนกระทั่งจบการศึกษาหรือออกจากโรงเรียน ระเบียนสะสมเป็นเครื่องมือช่วยให้นักแนะแนวได้เห็นภาพพจน์เกี่ยวกับพัฒนาการของนักเรียนทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกาย สัมฤทธิ์ผลทางการเรียน อารมณ์และสังคม ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการที่นักเรียนมารับบริการปรึกษาก็ควรเก็บรวบรวมไว้ในระเบียนสะสมด้วย ระเบียนนี้ต้องเก็บไว้เป็นความลับ
1. ชนิดของระเบียบสะสม โดยทั่วไประเบียนสะสมแบ่งออกได้ดังนี้
1. แบบแผ่นเดียว โดยบรรจุข้อความต่าง ๆ ที่จะบานทึกทั้งด้านหน้าและด้านหลังระเบียนสะสมชนิดนี้อาจจะสะดวกต่อการเก็บรักษาไม่เปลืองเนื้อที่ แต่ข้อมูลต่าง ๆ บันทึกได้น้อยเพราะเนื้อที่จำกัด ฉะนั้นระเบียนสะสมชนิดนี้ ถ้านำไปใช้กับนักเรียนมัธยมอาจจะไม่เหมาะสมเพราะอาจต้องมีข้อมูลที่ต้องบันทึกหรือบรรจุลงในระเบียนสะสมมาก

2. แบบแฟ้มหรือเป็นเล่ม มีลักษณะถาวรกว่าชนิดแรก แบบนี้ส่วนใหญ่จะแยกข้อมูลแต่ละอย่างออกจากกันเป็นแผ่น ๆ ไปฉะนั้นเนื้อที่ในการบันทึกจะมีมาก ข้อเสียของระเบียนสะสมนี้คือ สิ้นเปลืองงบประมาณมากและเสียเนื้อที่ในการเก็บมากพอสมควร การรักษาข้อมูลที่เป็นความลับบางอย่างอาจทำไม่ได้ดีพอ เพราะต้องยกไปศึกษาหรือบันทึกทั้งเล่ม
3. แบบเป็นซองหรือแบบรวม หมายถึง การนำเอาข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ทั้งหมดมารวมกันไว้ในซองเดียวกัน โดยแยกข้อมูลเป็นแต่ละชนิดออกจากกันเป็นเรื่อง ๆ ไปสะดวกต่อการบันทึกข้อมูลในแง่ของการรักษาเป็นความลับ ข้อเสียก็คือ อาจง่ายต่อการสูญหายถ้าขาดความรอบคอบ
2. ประโยชน์ของระเบียนสะสม ระเบียนสะสมเป็นเอกสารที่ให้คุณค่าทางการแนะแนวมากดังที่ จำเนียร ช่วงโชติ (2520 : 212 – 213) ได้กล่าวไว้ดังนี้
1. ช่วยครูและครูแนะแนวหรือผู้ให้คำปรึกษา ในด้านการแนะแนวหรือการให้คำปรึกษาในกรณีที่ผู้เรียนมีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ
2. ช่วยครูและผู้แนะแนวให้การช่วยผู้เรียนวางแผนการเลือกเรียนและการตัดสินใจเลือกแนวทางการศึกษาต่อ หรือการเลือกประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ ความสามารถเจตคติ และคุณลักษณะอื่น ๆ
3. ช่วยผู้เรียนให้รู้จักเข่าใจตนเองอย่างถูกต้อง อันจะเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกการดำเนินชีวิต
4. บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ให้รู้จักและเข้าใจเด็กในความปกครองของตน โดยผ่านครูแนะแนวในการสนับสนุนในเรื่องการเรียนหรือการประกอบอาชีพ
5. ช่วยผู้สอน ในเรื่องการจัดกลุ่มการเรียนในชั้นเรียนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
6. ช่วยทางสถาบันการศึกษาใช้ในการวางโครงการติดตามผลงานด้านการแนะแนวด้านการสอน ด้านการบริหาร

วิธีการที่ใช้ในการศึกษารายกรณี
การศึกษารายกรณีให้บรรลุเป้าหมายและเกิดประโยชน์ทั้งแก่ผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษา ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยใช้การศึกษาประวัติรายกรณีเพื่อหาข้อมูลในการทำวิจัย
การศึกษาประวัติรายกรณี (Case History) วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการเก็บรวบรวมรายละเอียดก็คือ เพื่อศึกษาทำความรู้จักและเข้าใจเด็กแต่ละคน และเพื่อนำความรู้ความเข้าใจเด็กแต่ละคนนั้นมาใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการพิจารณาช่วยเหลือหรือแนะแนวให้เด็กแต่ละคนสามารถแก้ปัญหา ปรับตัวได้และเหมาะสมต่อไป โดยศึกษาภูมิหลัง สิ่งแวดล้อม ความเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลและสาเหตุอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ และการปรับตัวของผู้รับการศึกษา (จำเนียร ช่วงโชติ 2520 : 195 – 196)


2. ประเภทแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นแหล่งเรียนรู้จึงมีหลากหลาย การจำแนกประเภทมีหลากหลาย แนวคิดและยากจะแยกกันโดยเด็ดขาด เพราะแหล่งเรียนรู้ในชุมชนมีลักษณะผสมผสานและมีอยู่มากมายรอบตัวเรา ในที่นี้จะแบ่งประเภทแหล่งเรียนรู้เป็น 4 ประเภท ซึ่งการศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนกรณีศึกษาอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญจะขอศึกษามาเพียงประเภทละหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งจะกล่าวดังต่อไปนี้
1. แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคล
หมายถึง บ่อเกิดหรือศูนย์รวมของวิชาความรู้ที่เป็นบุคคลที่อยู่ในชุมชน คือ บุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ตนเองมีอยู่ให้ผู้สนใจหรือผู้ต้องการเรียนรู้ในชุมชนได้ เช่น บุคคลที่มีทักษะความสามารถในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะวิทยาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตและเกิดขึ้นใหม่และที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคตย่อมมาจากบุคคลทั้งสิ้น อาจจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ดังนี้
1.1 แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นทางการ
1.2 แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคลที่เป็นไปตามสภาพและบทบาทในสังคม
1.3 แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคลที่เป็นไปโดยสายงานในการประกอบอาชีพต่างๆ
1.4 แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคลที่เป็นความสามารถเฉพาะตัว เช่น ศิลปิน ช่างฝีมือ ผู้รู้
ผู้ปฏิบัติต่าง ๆ
1.5 แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคลที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
2. แหล่งเรียนรู้ประเภททรัพยากรธรรมชาติ
แหล่งเรียนรู้ประเภททรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ด้านการศึกษาหาความรู้ ทั้งในส่วนที่ช่วยให้รู้ประวัติมนุษย์ ความเป็นมาของมนุษย์ สัตว์ และสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว เพื่อเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่มีขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยสามารถนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่าและอนุรักษ์ให้ยืนยาวเพื่อมนุษยชาติต่อไปในอนาคตทรัพยากรธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นแหล่งเรียนรู้ จำแนกได้ดังนี้
1. แหล่งเรียนรู้ประเภททรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ยังคงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีคุณลักษณะเฉพาะตัวตามเขตภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ มีคุณค่าทางด้านการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์และสภาพธรรมชาติต่าง ๆ
2. แหล่งเรียนรู้ประเภทธรรมชาติ ที่มนุษย์เข้าไปเสริมแต่งแต่ยังคงเป็นธรรมชาติได้แก่ วนอุทยาน เป็นแหล่งที่มีความสวยงามและมีความสามารถ โดยมีการาเสริมแต่งธรรมชาติเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินและความรู้ เช่น ทำป้าย แนะนำสถานที่ จัดทำอาคารแสดงวิวัฒนาการต่างๆ
3. แหล่งเรียนนารู้ประเภททรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาหรือหาความเพลิดเพลิน ได้แก่ สวนพฤกษาศาสตร์ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ฯลฯ
3. แหล่งเรียนรู้ประเภทสื่อสารสนเทศ
แหล่งเรียนรู้ประเภทสื่อมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสังคมเป็นสังคมแห่งข่าวสารข้อมูล ยิ่งมีแหล่งเรียนรู้ประเภทนี้อยู่ในสังคมใดมากย่อมทำให้มีความเจริญและมีอำนาจในการแข่งขันมากขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งพัฒนาสมรรถนะทั้งในด้านเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นตัวกลางถ่ายทอดความรู้ให้มีคุณภาพสูงขึ้น สามารถจำแนกได้ดังนี้
3.1 สื่อที่รับได้ด้วยการมองเห็น เป็นสื่อที่สามารถรับรู้ด้วยการอ่าน ได้แก่ หนังสือพิมพ์
นิตยสาร หนังสือต่าง ๆ
3.2 สื่อที่ได้รับด้วยการฟัง เช่น วิทยุกระจายเสียง
3.3 สื่อที่ได้รับด้วยการฟังและการมองเห็น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างรวดเร็วมากที่สุด สื่อที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ นอกจากจะเป็นสื่อมวนชนแล้ว ยังมีสื่อที่สามารถติดต่อระหว่างบุคคลโดยใช้เสียง เช่นโทรศัพท์ สัมมนาทางไกล ที่ให้ข่าวสารและให้ภาพ
เช่น โทรพิมพ์ เทเล็กซ์ แฟกซ์ คอมพิวเตอร์ออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเรียนรู้ประเภทสื่อที่มีผู้สนใจสามารถไปศึกษาค้นคว้าในรูปเทปเสียง แผ่นเสียง วิดีทัศน์ วิดีโอดิลก์ วิดีโอเท็กซ์ เป็นต้น
4. แหล่งเรียนรู้ประเภทวัตถุและอาคารสถานที่
แหล่งเรียนรู้ประเภทวัตถุและอาคารสถานที่ หมายถึง วัตถุอาคารสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนรู้สามารถศึกษาค้นคว้า เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ประเภทนี้ทำให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง สามารถเข้าใจสิ่งที่ศึกษาได้ง่ายขึ้น เป็นการเสริมแรงให้อยากเรียนและเกิดภาพมุมมองที่ดีและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน
การจำแนกประเภทอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะดังนี้
4.1 แหล่งเรียนรู้ที่เป็นสถานศึกษา เช่น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ สถานฝึกอาชีพ ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ทั้งด้านความรู้ทั่วไปและอาชีพ
4.2 แหล่งเรียนรู้ที่ไม่ใช่สถานศึกษา เช่น สถานประกอบการชุมชน ศาสนสถาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ องค์กรทางสังคมต่าง ๆ ฯลฯ









วีธีดำเนินการ

ในการจัดทำรายงานการศึกษารายกรณี (case study) เกี่ยวกับทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ คณะผู้จัดทำได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษารายกรณี (case study)
2. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแหล่งเรียนรู้
3. กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการศึกษารายกรณี ซึ่งแบ่งการศึกษาทรัพยากรประเภทต่างๆ ดังนี้
- แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคล คือ พระครูสุนทรคุณวัตร
- แหล่งเรียนรู้ประเภทสื่อสารสนเทศ คือ โรงเรียนวิถีพุทธ (โรงเรียนบ้านระกาย)
- แหล่งเรียนรู้ประเภทวัตถุและอาคารสถานที่ คือ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและ
ทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
4. สร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย
- แบบสัมภาษณ์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ปริญญา ครุศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาบริหารการศึกษา
- แบบสัมภาษณ์ เพื่อเก็บข้อมูลสารสนเทศ โรงเรียนบ้านระกาย ต. จอหอ อ.เมือง
จ. นครราชสีมา
- แบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
5. ดำเนินการเก็บข้อมูล
6. รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
7. จัดทำรายงายการศึกษารายกรณี (case study)
8. นำเสนอผลงาน










บรรณานุกรม

ก่องกานดา ชยามกฤต,ดร. (มปป). รายงานการวิจัย การจัดการเรียนรู้ของแหล่งเรียนรู้ตลอด
ชีวิต : สวนพฤกษศาสตร์. กรุงเทพ ฯ : พิมพ์ดีการพิมพ์ .
คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ชลบุรี. ( 2545 – 2546 ).
การรักษาเอกลักษณ์และการสร้างภูมิต้านทานให้ชุมชนเกาะช้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
อันเป็นผลมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยว. ชลบุรี : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ชลบุรี.
สุนทร ปัญญพงษ์ และคณะ. ( 2549 ). รายงานการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการ
บริหารจัดการลุ่มน้ำด้านการท่องเที่ยว : กรณีศึกษาลุ่มน้ำลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ.
ชัยภูมิ : คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ.
เสมอจิตร หอมรสสุคนธ์ ,ดร. ( 2546 ). กรณีศึกษา โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบ
ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม. กรุงเทพ ฯ : คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. ( 2549). การสำรวจข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2549
( สถานประกอบการ ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพ ฯ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร.
























































































































ไม่มีความคิดเห็น: